Thälmann, Ernst (1868–1944)

นายแอนสท์ เทลมันน์ (พ.ศ. ๒๔๐๙–๒๔๘๗)

 แอนสท์ เทลมันน์ เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เยอรมัน (German Communist Party) ในช่วง ๘ ปีสุดท้าย (ค.ศ. ๑๙๒๕–๑๙๓๓) ของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* และเป็นนักเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงาน เทลมันน์ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน (Independent Social Democratic Party of Germany) มีบทบาทสำคัญในการผลักดันกรรมกรให้จัดตั้งเรเทอ (Räte) หรือสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสี (Worker’s and Sailor’s Council) ตามแบบสภาโซเวียต (Soviet) ของรัสเซียขึ้นในช่วงการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ แม้การปฏิวัติจะล้มเหลวแต่เขาก็ยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกลางที่กรุงเบอร์ลินต่อไป และต่อมาได้รับเลือกเป็นผู้นำสาขาพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันเขตฮัมบูร์ก (Hamburg) ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เขาไปร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ขององค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* หรือโคมินเทิร์น (Comintern)* ที่กรุงมอสโก เทลมันน์มีโอกาสพบกับวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตเป็นครั้งแรกและรู้จักแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตคนสำคัญอีกหลายคนซึ่งในเวลาต่อมาล้วนมีส่วนสนับสนุนเขาให้ได้เป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน และสมาชิกของคณะกรรมาธิการบริหารเปรซิเดียมขององค์การโคมินเทิร์น (Presidium of the Executive Committee of the Comintern) ใน ค.ศ. ๑๙๒๔ เทลมันน์สมัครแข่งขันเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. ๑๙๒๕ และ ค.ศ. ๑๙๓๒ แต่พ่ายแพ้ทั้ง ๒ ครั้ง

 เทลมันน์เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางระดับล่างที่เมืองฮัมบูร์กเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๘ บิดาเป็นเจ้าของร้านชำเล็ก ๆ ที่พอเลี้ยงตัวได้ มารดาทำงานในโรงงาน เทลมันน์ต้องช่วยครอบครัวทำงานตั้งแต่เล็กและมีโอกาสเรียนหนังสือจนจบชั้นมัธยมต้นขณะอายุ ๑๓–๑๔ ปี เขาแยกจากครอบครัวไปทำงานเลี้ยงชีพอย่างอิสระโดยเป็นกรรมกรท่าเรือและกะลาสี ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ เทลมันน์ในวัย ๑๗ ปี เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือเอสพีดี (German Social Democratic Part–SPD)* ซึ่งมีนโยบายสังคมนิยม เขาเข้าร่วมกับกลุ่มสายกลางภายในพรรคที่สนับสนุนแนวทางปฏิรูปของเอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein)* ผู้นำคนหนึ่งของพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เขาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งและมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวโน้มน้าวกรรมกรขนส่งให้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเอสพีดี มีช่วงเวลาหนึ่งที่เทลมันน์ไปทำงานเป็นกะลาสีเดินทางไปเสี่ยงโชคที่สหรัฐอเมริกาและกลับมาเยอรมนีใน ค.ศ. ๑๙๐๗ เขาทำงานเป็นกรรมกรขนส่งที่เมืองฮัมบูร์กและเริ่มสร้างชื่อเสียงให้ตนเองในฐานะสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งที่ปากกล้าและซื่อสัตย์ซึ่งเปิดโปงการทุจริตของผู้นำสหภาพ ประสบการณ์ในต่างแดนและการคลุกคลีกับกรรมกรทำให้เทลมันน์ตระหนักว่าแนวทางปฏิรูปของแบร์นชไตน์ไม่เหมาะสมทั้งเบี่ยงเบนจากลัทธิมากซ์ เขาจึงหันมาสนับสนุนกลุ่มปีกซ้ายในพรรคเอสพีดีที่มีคาร์ล ลีบเนชท์ (Karl Liebknecht)* และโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* เป็นผู้นำ

 เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนีย ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* แห่งจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* ทรงสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีและประกาศสงครามต่อรัสเซียและฝรั่งเศสในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ พรรคเอสพีดีสนับสนุนการเข้าสู่สงครามของเยอรมนีกลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงของพรรคเอสพีดีเรียกร้องให้ใช้วิกฤตการณ์สงครามก่อการปฏิวัติเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและร่วมกันจัดตั้งองค์การปฏิวัติใต้ดินแนวทางลัทธิมากซ์ชื่อว่าสันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartacus League) ขึ้น เทลมันน์เข้าร่วมด้วยแต่ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๕ เขาถูกเกณฑ์เป็นทหารเข้าร่วมรบและก่อนจะถูกส่งไปแนวรบด้านตะวันตก เทลมันน์แต่งงานกับโรซา คอช (Rosa Koch) สหายหญิงร่วมอุดมการณ์ในระหว่างสงครามเทลมันน์ซึ่งได้รับบาดเจ็บหลายครั้งในการรบเคลื่อนไหวปลุกระดมทหารในกองทัพให้กดดันรัฐบาลเพื่อยุติสงคราม และการจะเปลี่ยนสงครามที่ดำรงอยู่ให้เป็นสงครามกลางเมืองเพื่อก่อการปฏิวัติตามแนวทางของเลนิน ผู้นำพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* รัสเซีย เขาถูกจับด้วยข้อหาปลุกปั่นยุยงในกองทัพและถูกศาลทหารพิจารณาคดีแต่หลักฐานที่ไม่เพียงพอทำให้เขาได้รับการปล่อยตัว

 สงครามที่ยืดเยื้อและปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้ประชาชนเริ่มเบื่อหน่ายสงครามและเรียกร้องสันติภาพ สมาชิกพรรคเอสพีดีปีกซ้ายสายกลางในสภาไรค์ชตาก (Reichstag) จึงเริ่มเคลื่อนไหวให้ยุติสงครามและให้เปิดการเจรจาสันติภาพโดยปราศจากการผนวกดินแดน ทั้งต่อต้านการเพิ่มงบประมาณทางทหาร กลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงของพรรคก็สนับสนุนด้วย ฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ผู้นำพรรคเอสพีดีไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคได้จึงขับสมาชิกกลุ่มปีกซ้ายออกจากพรรค กลุ่มของเอแบร์ทซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ของพรรคเอสพีดีจึงได้ชื่อว่าเป็นพวกสังคมนิยมเสียงข้างมาก (Majority Socialists) หรือเสียงข้างมากเอสพีดี (Majority-SPD) ส่วนกลุ่มปีกซ้ายสายกลางและกลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงที่ถูกขับได้ชื่อว่าเป็นพวกสังคมนิยมอิสระ (Independent Socialist) หรือพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน อย่างไรก็ตาม ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๘ กลุ่มปีกซ้ายหัวรุนแรงซึ่งได้จัดตั้งองค์การปฏิวัติสันนิบาตสปาร์ตาคัสได้แยกตัวออกจากพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันและจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘

 เมื่อเยอรมนีเปิดการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อยุติสงคราม เทลมันน์ซึ่งถูกปลดประจำการได้กลับมาอยู่ที่เมืองฮัมบูร์กและเข้าร่วมกับพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน ต่อมาเมื่อกะลาสีเรือที่ฐานทัพวิลเฮล์มส์ฮาเวน (Wilhelmshaven) ได้เคลื่อนไหวก่อการจลาจลและนำไปสู่การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ กระแสการปฏิวัติได้ขยายตัวไปตามเมืองใหญ่ต่าง ๆ เทลมันน์ได้ปลุกระดมกรรมกรที่เมืองฮัมบูร์กและผลักดันการจัดตั้งเรเทอหรือสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือขึ้นทั้งประกาศสนับสนุนคูร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner)* ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันที่ยึดอำนาจในรัฐบาวาเรียได้สำเร็จ เอแบร์ทผู้นำพรรคเอสพีดีซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากจึงขอความร่วมมือจากกองทัพในการแก้ไขสถานการณ์โดยมีเงื่อนไขว่าเขาจะตั้งรัฐบาลชุดใหม่และให้กองทัพมีอำนาจเด็ดขาดในช่วงเวลาเดียวกัน ฟิลิป ไชเดอมันน์ (Philip Scheidemann) ผู้นำคนหนึ่งของพรรคเอสพีดีซึ่งร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ก็รีบประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมนีขึ้นเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อตัดหน้าฝ่ายปฏิวัติที่กำลังเตรียมการก่อการปฏิวัติแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ของรัสเซีย โดยจะสถาปนาสาธารณรัฐโซเวียตเยอรมัน(German Soviet Republic) ขึ้น

 การจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมนีเปิดทางให้ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรยอมเจรจาสันติภาพกับเยอรมนี และนำไปสู่การลงนามในสัญญาสงบศึก (Armistice)* เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ รัฐบาลก็ใช้กองทัพและกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเรือนติดอาวุธปราบปรามและกวาดล้างฝ่ายต่อต้านรัฐบาลและพวกคอมมิวนิสต์ ในการเลือกตั้งทั่วไปหลังวิกฤตการณ์ทางการเมืองเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ เทลมันน์ได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาท้องถิ่นเมืองฮัมบูร์กและระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙–๑๙๒๐ เขาพยายามประสานความขัดแย้งระหว่างพรรคเอสพีดีกับพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมัน แต่ประสบความสำเร็จไม่มากนัก ในปลาย ค.ศ. ๑๙๒๐ เขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันและใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เทลมันน์เป็นผู้แทนของพรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระเยอรมันไปร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๓ ขององค์การโคมินเทิร์น ที่กรุงมอสโก เขาได้พบกับเลนินและเหล่าแกนนำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตอีกหลายคนซึ่งทำให้เขาประทับใจและเห็นคล้อยกับแนวทางปฏิวัติแบบรัสเซีย หลังกลับเยอรมนี เทลมันน์ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันใน ค.ศ. ๑๙๒๓

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๒๓ เมื่อเยอรมนีไม่สามารถจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตามข้อกำหนดของสนธิสัญญาแวร์ซาย (Treaty of Versailles)* ได้และนำไปสู่การยึดครองรูร์ (Ruhr Occupation)* ของกองกำลังฝรั่งเศสและเบลเยียมและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีวิลเฮล์ม คูโน (Wilhelm Kuno) ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จึงถูกกดดันให้ลาออก และกุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* ผู้นำพรรคประชาชนเยอรมันได้ดำรงตำแหน่งสืบแทนชเตรเซมันน์ประกาศนโยบายปรับความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสโดยการจะปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซาย และแก้ไขวิกฤตการณ์เศรษฐกิจทั้งแต่งตั้งยัลมาร์ ชัคท์ (Hjalmar Schacht)* นายธนาคารที่มีฝีมือให้แก้ไขปัญหาการเงิน กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายต่อต้านนโยบายของชเตรเซมันน์ด้วยการถอนตัวออกจากรัฐบาลผสม ขณะเดียวกันกลุ่มการเมืองชาตินิยมในรัฐบาวาเรียก็เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลและเรียกร้องให้กุสทาฟ ริทเทอร์ ฟอน คาร์ (Gustav Ritter von Kahr) ยึดอำนาจ รัฐแซกโซนีและทูรินเจีย (Thuringia) ก็ปรับคณะรัฐบาลและให้พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันเข้าร่วมซึ่งเป็นการเปิดทางให้กลุ่มฝ่ายซ้ายยึดอำนาจ ความวุ่นวายทางการเมืองในเยอรมนีทำให้องค์การโคมินเทิร์นและผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์โซเวียตหลายคนซึ่งรวมทั้งเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* สนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันให้ก่อการปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจการปกครอง เทลมันน์ร่วมเคลื่อนไหวสนับสนุนกลุ่มคอมมิวนิสต์ในฮัมบูร์กให้ลุกฮือขึ้นสู้ซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์การลุกฮือที่ฮัมบูร์ก (Hamburg Uprising) เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๓ รัฐบาลประกาศใช้กฤษฎีกาฉุกเฉิน (Emergency Decree)* เพื่อรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสังคมและให้นายพลฮันส์ ฟอน เซคท์ (Hans von Seeckt)* กวาดล้างการลุกฮือที่ฮัมบูร์กและปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์ในแซกโซนีและทูรินเจีย

 บทบาทของเทลมันน์ในการลุกฮือที่ฮัมบูร์กทำให้เขาได้รับเลือกเป็นรองหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันในต้น ค.ศ. ๑๙๒๔ และในปีเดียวกันเขาก็เป็นผู้แทนสภาไรค์ชตาก ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ เทลมันน์ไปร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่ ๕ ขององค์การโคมินเทิร์น และได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการบริหารเปรซิเดียมขององค์การโคมินเทิร์นโดยมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของกรีกอรี ซีโนเวียฟ (Grigori Zinoviev)* ผู้อำนวยการโคมินเทิร์น เทลมันน์สนับสนุนนโยบายการสร้างสังคมนิยมภายในประเทศเดียว (Socialism in One Country)* ของโจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำสหภาพโซเวียตและรับคำสั่งจากสหภาพโซเวียตไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเขาผลักดันการจัดตั้งกองกำลังกึ่งทหารของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๒๔ โดยเรียกชื่อว่าพันธมิตรนักต่อสู้แนวร่วมแดง (Alliance of Red Front-Fighters) และในการประชุมใหญ่ระดับชาติครั้งแรกของพันธมิตรนักต่อสู้แนวร่วมแดง เทลมันน์ได้รับเลือกเป็นผู้นำของกองกำลัง เขาใช้กองกำลังดังกล่าวต่อสู้กับฝ่ายตำรวจหน่วยเอสเอ (SA)* ของพรรคนาซี และกองกำลังของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ซึ่งบ่อยครั้งเกิดการปะทะกันอย่างนองเลือดในท้องถนน อย่างไรก็ตามใน ค.ศ. ๑๙๒๙ รัฐบาลยุบเลิกพันธมิตรนักต่อสู้แนวร่วมแดงของพรรคคอมมิวนิสต์เนื่องจากในวันแรงงานสากล ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่กรุงเบอร์ลิน พันธมิตรนักต่อสู้แนวร่วมแดงจัดชุมนุมและก่อความวุ่นวายจนนำไปสู่การจลาจลนองเลือดและมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน

 เมื่อประธานาธิบดีเอแบร์ทถึงแก่อสัญกรรมในปลายเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๒๕ มีการกำหนดการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปลายเดือนมีนาคม เทลมันน์ลงสมัครแข่งขันด้วยและคู่แข่งคนสำคัญคือจอมพลเพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* วีรบุรุษแห่งยุทธการที่ทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg)* วิลเฮล์ม มากซ์ (Wilhelm Marx) จากพรรคเซนเตอร์ (Center Party)* และนายพลเอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorf)* จากพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party; Nazi Party)* ในการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงข้างมาก และมีผู้สมัครเพียง ๓ จาก ๗ คน คือ ฮินเดนบูร์ก มากซ์ และเทลมันน์ ได้เข้าแข่งขันในรอบที่ ๒ ในเดือนเมษายน ฮินเดนบูร์กได้เสียงสนับสนุนร้อยละ ๔๘.๓ หรือ ๑๔.๕๕ ล้านเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๒ ของสาธารณรัฐไวมาร์ วิลเฮล์ม มากซ์ได้ร้อยละ ๔๕.๓ หรือ ๑๓.๗๕ ล้านเสียงส่วนเทลมันน์ได้เพียงร้อยละ ๖.๔ หรือ ๑.๙๓ ล้านเสียงแม้จะพ่ายแพ้อย่างสิ้นเชิง แต่เทลมันน์ก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้น ต่อมาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๕ เทลมันน์ได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน เขาประกาศจะดำเนินนโยบายเสริมสร้างความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตและนำแบบอย่างความสำเร็จของสหภาพโซเวียตในเรื่องต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้กับเยอรมนีเขายังเห็นว่าสหภาพโซเวียตเป็นปิตุภูมิแห่งชนชั้นแรงงานและจะปฏิบัติตามคำสั่งและคำชี้แนะจากสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัด

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๒๖–๑๙๓๒ เทลมันน์เข้าร่วมประชุมใหญ่ครั้งที่๕และครั้งที่๖ขององค์การโคมินเทิร์นและการประชุมเต็มคณะของคณะกรรมาธิการบริหารโคมินเทิร์น เขาผลักดันแนวนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันให้สอดคล้องกับนโยบายของโคมินเทิร์น และกำหนดยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวในการโค่นล้มระบอบทุนนิยมในเยอรมนี รวมทั้งการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจรัฐตามกระบวนการประชาธิปไตย นโยบายสนับสนุนสหภาพโซเวียตของเทลมันน์มีส่วนทำให้กลุ่มคอมมิวนิสต์ชาตินิยมในพรรคไม่พอใจและหาทางโค่นอำนาจเขา ใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เกิดเรื่องอื้อฉาวทางการเมืองขึ้นในพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน เนื่องจากจอห์น วิททอร์ฟ (John Wittorf) สมาชิกคณะกรรมาธิการกลางพรรคยักยอกเงินหาเสียงเลือกตั้งจำนวน ๑,๕๐๐ ไรค์มาร์คในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม เทลมันน์ซึ่งเป็นสหายสนิทของวิททอร์ฟและสนับสนุนเขาให้ลงแข่งขันทราบเรื่องการยักยอกและพยายามปกปิดแต่สื่อมวลชนได้เบาะแสเรื่องดังกล่าวและพยายามขุดคุ้ยเปิดโปง คณะกรรมาธิการกลางพรรคจึงไต่สวนและมีมติให้ขับวิททอร์ฟและสมาชิกพรรคอีก ๓ คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องออกจากพรรค กรณีเรื่องวิททอร์ฟ (Wittorf Affair) เปิดโอกาสให้ฝ่ายตรงข้ามเทลมันน์เรียกร้องให้ปลดเขาจากหัวหน้าพรรคด้วยข้อหาปกป้องวิททอร์ฟและบกพร่องในหน้าที่

 อย่างไรก็ตาม สตาลินได้เข้าแทรกแซงและหาทางช่วยเทลมันน์ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นทั้งพันธมิตรและผู้สนับสนุนที่จงรักภักดีต่อเขา สตาลินมีโทรเลขถึงเวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช โมโลตอฟ (Vyacheslav Mikhaylovich Molotov)* ผู้อำนวยการโคมินเทิร์นคนใหม่ที่เข้าดำรงตำแหน่งสืบต่อจากนีโคไล บูฮาริน (Nikolai Bukharin)* ใน ค.ศ. ๑๙๒๘เพื่อให้ช่วยเหลือเทลมันน์ สตาลินให้เหตุผลว่าเทลมันน์มีความผิดที่ปกปิดเรื่องการยักยอก แต่การกระทำของเขาเรียกได้ว่า “ไม่เห็นแก่ตัว” เพราะเขาพยายามปกป้องชื่อเสียงของพรรค คณะกรรมาธิการบริหารโคมินเทิร์นจึงมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ ว่าบกพร่องทางการเมืองอย่างสุจริตและเชื่อมั่นในการตัดสินใจของเขา มติดังกล่าวจึงล้มคำตัดสินของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันที่เห็นว่าเทลมันน์มีความผิดโคมินเทิร์นยังสั่งการให้กวาดล้างกลุ่มคัดค้านหรือฝ่ายตรงข้ามเทลมันน์ในพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันและต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๒๘ ก็มีมติให้เทลมันน์เป็นผู้นำพรรคต่อไป มติของโคมินเทิร์นจึงนำไปสู่การกวาดล้างสมาชิกพรรคชาตินิยมและกลุ่มสายกลาง และทำให้พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันอยู่ในการควบคุมของสหภาพโซเวียต ทั้งทำลายระบอบประชาธิปไตยภายในพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันผลกระทบสำคัญของนโยบายโคมินเทิร์นครั้งนี้คือพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีและพรรคคอมมิวนิสต์อีกหลายประเทศ เริ่มตระหนักว่าโคมินเทิร์นคือเครื่องมือของสหภาพโซเวียตในการควบคุมพรรคคอมมิวนิสต์ต่าง ๆ

 หลัง ค.ศ. ๑๙๒๘ เป็นต้นมา เทลมันน์รับนโยบายจากโคมินเทิร์นที่จะไม่ร่วมมือกับพรรคเอสพีดีและพรรคสังคมนิยม เนื่องจากทั้ง ๒ พรรคดำเนินนโยบายแนวทางสังคมฟาสซิสต์ (social fascist) ขณะเดียวกันเทลมันน์ดำเนินนโยบายสร้างแนวร่วมโดยพยายามโน้มน้าวกลุ่มปีกซ้ายของพรรคนาซีและโดยเฉพาะสมาชิกหน่วยเอสเอที่เป็นชนชั้นแรงงานให้สนับสนุนแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน นโยบายดังกล่าวทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ได้ฐานเสียงเพิ่มมากขึ้น และในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๓๐ พรรคคอมมิวนิสต์ก็ได้ที่นั่งเพิ่มในสภาไรค์ชตาก จาก ๕๔ ที่นั่งใน ค.ศ. ๑๙๒๘ เป็น ๗๗ ที่นั่งและเป็นพรรคเสียงข้างมากอันดับ ๓ รองจากพรรคเอสพีดีและพรรคนาซี ชัยชนะดังกล่าวมีส่วนทำให้เทลมันน์ตัดสินใจลงแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ใน ค.ศ. ๑๙๓๒ และคู่แข่งคนสำคัญของเขาคือฮินเดนบูร์กกับฮิตเลอร์ พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันชูคำขวัญหาเสียงว่า “การเลือกฮินเดนบูร์กคือการลงคะแนนให้ฮิตเลอร์ การเลือกฮิตเลอร์คือการเลือกเข้าสู่สงคราม” ในการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ทำให้ต้องเลือกรอบสองระหว่างผู้มีคะแนนสูงสุด ๓ คนในรอบแรกคือ ฮินเดนบูร์ก ฮิตเลอร์ และเทลมันน์ ฮินเดนบูร์กมีชัยชนะโดยได้คะแนนเสียง ร้อยละ ๕๓ ฮิตเลอร์ได้ร้อยละ ๒๖.๘ และเทลมันน์ได้ ร้อยละ ๑๐.๒ หรือเท่ากับ ๓,๗๙๖,๘๕๕ เสียง

 ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคูร์ท ฟอน ชไลเชอร์ (Kurt von Schleicher)* นายกรัฐมนตรีกับฟรันซ์ ฟอน พาเพิน (Franz von Papen)* คนใกล้ชิดของฮินเดนบูร์ก ทำให้พาเพินหันไปร่วมมือกับฮิตเลอร์เพื่อโค่นอำนาจชไลเชอร์และทอนอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตาก ในเวลาต่อมา ประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กจึงยอมแต่งตั้งให้ฮิตเลอร์เป็นนายกรัฐมนตรีในปลายเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๓๓ การขึ้นสู่อำนาจทางการเมืองของฮิตเลอร์เปิดทางให้พรรคนาซีมีบทบาทมากขึ้นและเริ่มดำเนินการกวาดล้างฝ่ายตรงข้าม เมื่อเกิดเหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก (Reichstag Fire)* ในคืนวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ซึ่งฝ่ายคอมมิวนิสต์ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลัง ฮิตเลอร์ได้ใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นข้ออ้างโน้มน้าวประธานาธิบดีฮินเดนบูร์กซึ่งหวาดกลัวการลุกฮือของพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันตามแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซียให้ยอมลงนามในกฤษฎีกาฉุกเฉินให้อำนาจแก่รัฐบาลนาซีในการสร้างความเป็นระเบียบและความสงบทางสังคม เทลมันน์หาทางต่อต้านด้วยการขอความร่วมมือกับพรรคเอสพีดีเพื่อจัดการชุมนุมประท้วงทั่วไปทางการเมืองขึ้น แต่ล้มเหลวเพราะพรรคเอสพีดีปฏิเสธที่จะร่วมมือด้วย ฮิตเลอร์จึงใช้อำนาจกฤษฎีกาฉุกเฉินกำจัดพวกคอมมิวนิสต์และให้หน่วยตำรวจลับหรือเกสตาโป (Gestapo)* จับกุมเทลมันน์เมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๓ ผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ในสภาไรค์ชตากถูกจับกุมและมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถหลบหนีได้และลี้ภัยไปสหภาพโซเวียต ซึ่งในจำนวนผู้ที่ลี้ภัยมีวิลเฮล์ม พีค (Wilhelm Pieck)* และวัลเทอร์ อุลบริชท์ (Walter Ulbricht)* รวมอยู่ด้วยพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมันถูกยุบและสมาชิกที่หนีรอดลงไปเคลื่อนไหวใต้ดินและรอคอยโอกาสที่จะตั้งพรรคขึ้นใหม่

 เทลมันน์ถูกคุมขังที่คุกโมอาบิท (Moabit) กรุงเบอร์ลินและใน ค.ศ. ๑๙๓๗ เขาถูกย้ายไปที่คุกเมืองแฮโนเวอร์ (Hanover) รัฐบาลนาซีแต่งตั้งทนายที่เป็นสมาชิกพรรคนาซี ๒ คนให้เขา เพื่อจะดำเนินการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย แต่เทลมันน์ก็ตระหนักดีว่าการพิจารณาคดีจะไม่เกิดขึ้น เขาติดต่อสมาชิกพรรคและโลกภายนอกผ่านภรรยาและบุตรสาวที่ไม่ได้ถูกจับ มีการรณรงค์ให้ปล่อยตัวเทลมันน์ทั้งภายในและภายนอกประเทศแต่ล้มเหลว ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๖ เทลมันน์ซึ่งมีอายุครบ ๕๐ ปีได้รับจดหมายให้กำลังใจจากปัญญาชนทั่วยุโรปซึ่งรวมทั้งมักซิม กอร์กี (Maxim Gorky) นักเขียนเรืองนามชาวโซเวียต และไฮน์ริช มันน์ (Heinrich Mann) นักเขียนชาวเยอรมันผู้ลี้ภัย ในปีเดียวกันนั้นสงครามกลางเมืองสเปน (Spanish Civil War ค.ศ. ๑๙๓๖–๑๙๓๙)* ก็เกิดขึ้น ปัญญาชนยุโรปที่เป็นชาวเยอรมัน ออสเตรีย สวิส และสแกนดิเนเวียได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นกองพันอาสาสมัครที่เรียกชื่อว่ากองพันเทลมันน์ (Thälmann Battalion) ขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่เทลมันน์โดยสังกัด กับกองพลน้อยนานาชาติ (International Brigades) เข้าช่วยรัฐบาลสาธารณรัฐสเปนป้องกันกรุงมาดริด (Madrid) จากการเข้ายึดของกองกำลังฝ่ายกบฏที่มีนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก (Francisco Franco)* เป็นผู้นำ

 ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* ยอซีป บรอซหรือตีโต (Josip Broz; Tito)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวียได้จัดตั้งหน่วยสู้รบเพื่อต่อต้านนาซีขึ้นโดยเรียกชื่อว่ากองพันแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann Battalion) ในช่วงปลายสงครามใน ค.ศ. ๑๙๔๔ เทลมันน์ถูกย้ายไปคุมขัง ณ ค่ายกักกัน (Concentration Camp)* ที่บูเคนวัลด์ (Buchenwald) และในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์ (Heinrich Himmler)* คนสนิทของฮิตเลอร์มีคำสั่งให้หน่วยเอสเอส (SS)* สังหารเทลมันน์ เขาถูกยิงทิ้งเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม ค.ศ. ๑๙๔๔ รวมอายุได้ ๕๘ ปี

 หลังวิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน (Berlin Blockade)* ใน ค.ศ. ๑๙๔๙ เยอรมนีถูกแบ่งเป็น ๒ ประเทศ คือ สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน (Federal Republic of Germany) หรือเยอรมนีตะวันตกกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (German Democratic Republic) หรือเยอรมนีตะวันออกเยอรมนีตะวันออกซึ่งปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์และเป็นรัฐบริวารโซเวียตได้ยกย่องแอนสท์ เทลมันน์และผู้นำคอมมิวนิสต์ที่ถูกสังหาร เช่น โรซา ลักเซมบูร์กและคาร์ล ลีบเนชท์ เป็นวีรบุรุษของประเทศ และนำชื่อของพวกเขามาตั้งเป็นชื่อโรงเรียน โรงงาน ถนน สวนสาธารณะ และอื่น ๆ ตามเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ และโดยเฉพาะที่เบอร์ลิน ฮัมบูร์ก และแฟรงก์เฟิร์ต ใน ค.ศ. ๑๙๔๘ มีการตั้งชื่อองค์การยุวชนคอมมิวนิสต์ว่าองค์การผู้บุกเบิกแอนสท์ เทลมันน์ (Ernst Thälmann Pioneer Organization) ซึ่งเยาวชนที่เป็นสมาชิกจะให้คำปฏิญญาว่าจะศึกษาและต่อสู้ตามแนวความคิดของเทลมันน์ และยึดเทลมันน์เป็นต้นแบบของการประพฤติปฏิบัติ ใน ค.ศ. ๑๙๕๔ รัฐบาลเยอรมันตะวันออกสนับสนุนให้สร้างภาพยนตร์เกี่ยวกับชีวิตของแอนสท์ เทลมันน์ เผยแพร่รวม ๒ เรื่อง คือ Ernst Thälmann–Sohn Seiner Klasse (Son of his Class) และ Ernst Thälmann–Führer seiner Klasse (Leader of his Class)

 ในต้นทศวรรษ ๑๙๗๐ เมื่อเอริช โฮเนคเคอร์ (Erich Honecker)* ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมนีตะวันออกเดินทางไปเยือนคิวบาเป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๗๒ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฟิเดล กัสโตร (Fidel Castro) ผู้นำคิวบาซึ่งให้ความสำคัญกับการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองในครั้งนี้อย่างมากจึงตั้งชื่อเกาะกาโยบลังโก เดลซูร์ (Cayo Blanco del Sur) ซึ่งมีความยาว ๑๕ กิโลเมตร และกว้าง ๕๐๐ เมตร ในอ่าวกาโซเนส (Cazones)ว่าเกาะแอนสท์เทลมันน์ (Ernst Thälmann Island) และเรียกชื่อหาดปลายา (Playa) ในคิวบาว่าหาด “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน” เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างรูปหล่อโลหะเทลมันน์ขนาดเท่าตัวจริงติดตั้งไว้ที่หน้าสถานทูตเยอรมนีตะวันออกในคิวบา และที่เกาะแอนสท์เทลมันน์ด้วย อย่างไรก็ตาม ใน ค.ศ. ๑๙๙๘ เกาะแอนสท์เทลมันน์ถูกภัยธรรมชาติจากพายุเฮอร์ริเคนมิตช์ (Mitch) พัดผ่านและรูปหล่อโลหะเทลมันน์ที่เกาะก็ถูกทำลาย

 ในเดือนเมษายนค.ศ. ๑๙๘๖ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ๑๐๐ ปี ชาตกาลของแอนสท์ เทลมันน์ รัฐบาลเยอรมนีตะวันออกได้ใช้พื้นที่ของโรงงานแก๊สถ่านหินที่ปิดตัวลงและบริเวณใกล้เคียงซึ่งตั้งอยู่ในใจกลางเขตเบรนซ์เลาเออร์ (Brenzlauer Berg) ในกรุงเบอร์ลินตะวันออกปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะและตั้งชื่อว่า สวนแอนสท์-เทลมันน์ (Ernst-Thälmann-Park) และมีการสร้างอนุสรณ์สถานรูปเทลมันน์ขนาดใหญ่ครึ่งตัวติดตั้งไว้ด้วย หลังการรวมเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกเป็นประเทศเดียวกันใน ค.ศ. ๑๙๙๐ ถนนและอาคารสถานที่หลายแห่งที่เคยเป็นชื่อเทลมันน์ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่สวนแอนสท์-เทลมันน์ยังคงใช้ชื่อเดิมเพราะประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการเปลี่ยนชื่อ อย่างไรก็ตาม ข้อความปลุกใจทางการเมืองที่สลักบนฐานของอนุสรณ์สถานเทลมันน์ที่ติดตั้งในสวนถูกลบออก ปัจจุบันสวนแอนสท์-เทลมันน์เป็นสวนสาธารณะที่ประชาชนนิยมมาพักผ่อน และมีการสร้างอาคารสาธารณะหลายแห่งเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งรวมทั้งหอศิลป์และโรงละครขนาดเล็กด้วย.



คำตั้ง
Thälmann, Ernst
คำเทียบ
นายแอนสท์ เทลมันน์
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องวิททอร์ฟ
- กฤษฎีกาฉุกเฉิน
- กองกำลังอิสระ
- กอร์กี, มักซิม
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- การปิดกั้นเบอร์ลิน
- การยึดครองรูร์
- เกสตาโป
- ค่ายกักกัน
- โคมินเทิร์น
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- ชไลเชอร์, คูร์ท ฟอน
- ชัคท์, ยัลมาร์
- ไชเดอมันน์, ฟิลิป
- ซีโนเวียฟ, กรีกอรี
- เซคท์, ฮันส์ ฟอน
- ตรอตสกี, เลออน
- เทลมันน์, แอนสท์
- นาซี
- บอลเชวิค
- บูฮาริน, นีโคไล
- แบร์นชไตน์, เอดูอาร์ด
- พรรคคอมมิวนิสต์โซเวียต
- พรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย
- พรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน
- พรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี
- พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี
- พรรคเซนเตอร์
- พรรคนาซี
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคประชาชนเยอรมัน
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- พรรคสังคมประชาธิปไตย
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
- พาเพิน, ฟรันซ์ ฟอน
- พีค, วิลเฮล์ม
- ฟรังโก, ฟรันซิสโก
- โมโลตอฟ, เวียเชสลัฟ มีไฮโลวิช
- ยุทธการที่ทันเนนแบร์ก
- ยูโกสลาเวีย
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- ลัทธิมากซ์
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- เลนิน, วลาดีมีร์
- วิกฤตการณ์การปิดกั้นเบอร์ลิน
- สงครามกลางเมืองสเปน
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สตาลิน, โจเซฟ
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สภาไรค์ชตาก
- สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน
- สหภาพโซเวียต
- สหภาพแรงงาน
- สังคมนิยมภายในประเทศเดียว
- สัญญาสงบศึก
- สากลที่ ๓
- เหตุการณ์เผาสภาไรค์ชตาก
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อุลบริชท์, วัลเทอร์
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เอสเอ
- เอสเอส
- ไอส์เนอร์, คูร์ท
- ฮินเดนบูร์ก, เพาล์ ฟอน
- ฮิมม์เลอร์, ไฮน์ริช
- โฮเนคเคอร์, เอริช
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1868–1944
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๐๙–๒๔๘๗
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-